ศักยภาพของเซี่ยงไฮ้และ YRD และความสัมพันธ์กับไทย

ศักยภาพของเซี่ยงไฮ้และ YRD และความสัมพันธ์กับไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.พ. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ก.พ. 2567

| 398 view

ศักยภาพของเซี่ยงไฮ้และ YRD และความสัมพันธ์กับไทย

๑. ศักยภาพของเซี่ยงไฮ้และ YRD

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ มีเขตกงสุลครอบคลุมนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย หรือที่เรียกรวมกันว่าเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) โดย YRD เป็นพื้นที่ที่มีบทบาทนำในการพัฒนาประเทศ และการปฏิรูปและเปิดกว้างของจีนมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมสูงที่สุดแห่งหนึ่งของจีน

YRD มีพื้นที่ประมาณ ๓๖๐,๐๐๐ ตร.กม. (ร้อยละ ๗๐ ของไทย) คิดเป็นร้อยละ ๔ ของจีน มีประชากรกว่า ๒๓๐ ล้านคน หรือร้อยละ ๑๗ ของจีน แต่มีขนาด GDP ถึง ๑ ใน ๔ ของจีน ในปี ๒๕๖๖ GDP ของ YRD อยู่ที่ ๓๐.๕ ล้านล้านหยวน หรือ ๔.๓๓ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าไทย ๘.๕ เท่า (GDP ของไทยอยู่ที่ ๕.๑๒ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)

การค้าต่างประเทศของ YRD คิดเป็นกว่า ๑ ใน ๓ ของจีน โดยในปี ๒๕๖๖ มีมูลค่าถึง ๒.๑๖ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ ๓๖.๒ ของจีน) มีการลงทุนด้าน R&D คิดเป็น ๑ ใน ๓ ของจีน (งบ R&D ของเซี่ยงไฮ้สูงกว่าร้อยละ ๔ ของ GDP ของนคร) และเป็นที่ตั้งของ ๑ ใน ๔ มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน

การบูรณาการ YRD เป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศไว้ในปี ๒๕๖๑ โดยเซี่ยงไฮ้มีบทบาทนำในเรื่องนี้ รวมถึงการเป็นประตูเชื่อมจีนกับโลก นอกจากนี้ YRD ยังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงต่าง ๆ อาทิ เซี่ยงไฮ้มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก ๓ ด้าน ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ AI และยาชีวภาพ เจียงซู โดดเด่นด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัย เจ้อเจียงเป็นฮับด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน และอานฮุยมีความก้าวหน้าด้าน AI ข้อมูลควอนตัม และพลาสมาฟิสิกส์

 

๒. ความสัมพันธ์ไทย - YRD

ไทยมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับ YRD ซึ่งครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้

  • ด้านการเมือง ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย - จีน ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนมีการจัดตั้งกลไกการประชุมคณะทำงานไทย - มณฑลเจียงซู และการประชุมคณะทำงานไทย - มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือระดับท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือที่เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะ
  • ด้านเศรษฐกิจ จีนเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และ YRD มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้  โดยการค้าไทย - YRD คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ ๔๐ ของการค้าไทย - จีน และการลงทุนของจีนในไทยมาจาก YRD เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ICT พลังงานใหม่ และการแพทย์ โดยนิคมอุตสาหกรรมไทย - จีน ที่จังหวัดระยอง มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม ซึ่งบริหารโดยบริษัท Holley Group จากเจ้อเจียงร่วมกับบริษัท อมตะ ของไทย นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน โดยบริษัทที่มีชื่อเสียงของไทยหลายรายประกอบธุรกิจใน YRD และจีน อาทิ CP เครือ ปตท. SCG สหยูเนียน มิสทีน เถ้าแก่น้อย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น
  • ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยและ YRD มีความร่วมมือที่ดีระหว่างสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนบุคลากร การทำวิจัยร่วมกัน ตลอดจนการให้ทุนการศึกษา รวมทั้งผ่าน Chinese Academy of Sciences Innovation Cooperation Center Bangkok (CASICCB) ซึ่งได้เปิด สำนักงานที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๖๖ และขับเคลื่อนโดยผู้บริหาร CAS จากนครเซี่ยงไฮ้ โดยสามารถเป็นช่องทางในการขยายความร่วมมือกับสถาบันวิจัยในเครือของ CAS กว่า ๑๓๐ แห่งในจีน รวมถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีในสังกัดของ CAS อีกจำนวนมาก
  • ด้าน soft power และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดในด้าน การท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่น ดนตรี กีฬา เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมสมัยใหม่ โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี อาทิ เทศกาลไทย ณ นครเซี่ยงไฮ้ ในเดือนพฤษภาคม และการเข้าร่วมงาน Shanghai International Film Festival ในเดือนมิถุนายนของทุกปี นอกจากนี้ ยังมุ่งส่งเสริมความร่วมมือเมืองพี่เมืองน้องและเมืองมิตรภาพที่จังหวัดของไทยมีกับ YRD