กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ นำทีมประเทศไทยและเอกชนไทยเยี่ยมชมท่าเรือไว่เกาเฉียว มั่นใจการส่งออกสินค้าไทยไปจีนผ่านเซี่ยงไฮ้ไม่สะดุด

กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ นำทีมประเทศไทยและเอกชนไทยเยี่ยมชมท่าเรือไว่เกาเฉียว มั่นใจการส่งออกสินค้าไทยไปจีนผ่านเซี่ยงไฮ้ไม่สะดุด

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 มิ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 540 view

 

          เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้นำทีมประเทศไทยและเอกชนไทยในนครเซี่ยงไฮ้ อาทิ เครือซีพี สหยูเนียน ปตท. ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย เยี่ยมชมท่าเรือไว่เกาเฉียว และหารือกับผู้บริหารท่าเรือ นายโจว เยี่ยนหัว รองผู้จัดการใหญ่ของ Shanghai International Port (Group) CO.,Ltd. Zhendong Container Terminal Branch สร้างความมั่นใจว่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศจีนผ่านท่าเรือไว่เกาเฉียวจะไม่สะดุด

          Shanghai International Port (Group) CO.,Ltd. Zhendong Container Terminal Branch หรือ SIPG Zhendong Branch เป็นหนึ่งในบริษัทที่ดำเนินกิจการโลจิสติกส์ ณ ท่าเรือไว่เกาเฉียว ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ท่าเรือเฟส 2 และเฟส 3 (จากทั้งหมด 8 เฟส) ซึ่งบริษัทฯ ได้รองรับเรือสินค้าจากเส้นทางทวีปอเมริกาและยุโรป
เป็นหลัก รองลงมา ได้แก่ เส้นทางจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2563 เส้นทางการขนส่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเส้นทางทวีปอเมริกาและยุโรป ในขณะที่เส้นทางจากอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบน้อยกว่า และตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบันสถาณการณ์การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือกลับมาเป็นปกติแล้ว นอกจากนี้ ยังมีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับลูกเรือและเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด

          ในการนี้ นายโจวฯ ให้ความมั่นใจด้วยว่า การขนส่งสินค้าจากไทยผ่านท่าเรือไว่เกาเฉียวจะไม่ประสบปัญหาใดๆ แม้ในระยะแรกของการแพร่ระบาดอาจเกิดปัญหาเรือเทียบท่าไม่ได้ทันทีเนื่องจากท่าเรือมีห้องเย็นสำหรับเก็บสินค้าไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดี ท่าเรือฯ ได้แก้ปัญหาทันทีโดยการสร้างคอนเทนเนอร์ห้องเย็นเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน  นอกจากนี้ กงสุลฝ่ายการเกษตรยังได้สอบถามความเป็นไปได้หากไทยประสงค์จะส่งผลไม้ไปจีนโดยใช้เส้นทางน้ำผ่านท่าเรือฯ เป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากเส้นทางบกที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งนายโจวฯ ให้ความเห็นว่า หากมีอุปสงค์เพิ่มขึ้น ท่าเรือฯ ก็สามารถปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับสินค้าผลไม้ได้

          อนึ่ง เซี่ยงไฮ้มีท่าเรือสองแห่ง ได้แก่ ท่าเรือไว่เกาเฉียวและท่าเรือหยางซาน โดยในปี 2562 ท่าเรือเซี่ยงไฮ้มีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 43.3 ล้าน TEU ต่อปี ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 และมีจุดเด่นที่ใช้ระบบ AI ในการบริหารจัดการ

 

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้

5 มิถุนายน 2563

 

       

                     

 

                      

        

                      

 

                      

   

                                      ***************************************